Round Table Discussion “Civil Education and Youth Political Participation”


เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ.2559 ทางสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute) ได้ดำเนินการจัดงานเสวนาโต๊ะกลม (Round Table Discussion) ภายใต้หัวข้อ “Civil Education and Youth Political Participation” โดยมีรายนามผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้

คุณ Abby Kiesa
Director of Impact, CIRCLE (Center for Information and Research on Civic Learning and Engagement)
ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย
ดร.วิชัย ตันศิริ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
Dr. Takashi Tsukamoto
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการต่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
คุณณิชา พิทยาพงศกร
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสรรหาผู้นำการเปลี่ยนแปลง องค์กร Teach for Thailand
การจัดงานเสวนาโต๊ะกลมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบการศึกษาไทยเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมือง การฟื้นตัวของการศึกษาประชาสังคม และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐมากขึ้น โดยสามารถสรุปสาระสำคัญจากงานเสวนาได้ดังต่อไปนี้

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองนั้นเริ่มมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแห่งเทคโนโลยีที่ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ซึ่งความสะดวกรวดเร็วเหล่านี้ก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน ผู้เข้าร่วมเสวนาจึงให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเยาวชนไทย รวมทั้งยังมีข้อเสนอในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

1. การจัดการเรื่องหน้าที่พลเมืองในสังคมที่มีบริบทแตกต่างกันนั้น ย่อมใช้วิธีการที่แตกต่างกัน โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทัศนคติของผู้คนในสังคมนั้น เป็นหลักสำคัญ

2. ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันครอบครัว ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่ดีอย่างทั่วถึง

3. มีการจัดอบรม สัมมนาครูและอาจารย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองเข้าไปในการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของหน้าที่พลเมืองที่ดี

5. จัดให้มีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ทั้งบนสื่อออนไลน์ ตามสถานศึกษา และสถานที่อื่นๆ

6. ปรับวิชาเรียนให้มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างพลเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น ปรับให้มีวิชาการอภิปรายหรือการสัมมนาแทนการเรียนวิชาภาษาไทย ในระดับมัธยมปลาย เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงวิธีการใช้ภาษาไทยอย่างแท้จริง และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนกล้าคิดวิเคราะห์ กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ในที่สาธารณะให้มากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทยต้องขอขอบพระคุณผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านที่ให้เกียรติสละเวลาอันมีค่ามาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้