นโยบายการพัฒนาทักษะแรงงานไทย

นโยบายการพัฒนาทักษะแรงงานไทย
สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute: FIT) ร่วมกับ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Consulting Networking and Coaching Center: CONC Thammasat) ได้จัดงานสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง ทางออกวิกฤตเศรษฐกิจไทย ภายใต้บริบทการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2560 เวลา 8.30 -16.00 ณ ห้องประชุม F-310 อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิ ในแวดวงการเมือง นักวิชาการ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศไทย และบุคคลทั่วไปที่สนใจในเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก เช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณชวน หลีกภัย คุณกรณ์ จาติกวณิช คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ เป็นต้น

คณะผู้วิจัยสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ได้แก่ ดร.ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ (หัวหน้าโครงการ) ผศ.เสกสิริ นิวัติศัยวงศ์ นางสาว จุฑาทิพย์ ตาฬุมาศสวัสดิ์ และนางสาว วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ ได้ทำการเสนอข้อมูลสถิติที่สำคัญ บทวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน และนำเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในประเทศไทย ด้วยการยกระดับทักษะ ยกระดับรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

คณะผู้วิจัยได้กล่าวถึงสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยว่ามีผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ถึงร้อยละ 54.32 ของประเทศ และผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ถึงร้อยละ 76.27 ของประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตว่าในปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมยังมีรายได้น้อย ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น แรงงานไร้ฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือมีโอกาสตกงาน อีกทั้งในอนาคต Technology Disruption ทำให้ภาคการผลิตและบริการ มีความต้องการทักษะใหม่ๆตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนสายงาน แต่แรงงานไทยแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่ามี 17.85 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 46.16 แรงงานที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่ามี 24.15 ล้านคน เป็นร้อยละ 62.44

หากประเทศไทยอยากจะออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว เรามีความจำเป็นที่จะต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะต้องลงทุนอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งเราจะต้องการวิศวกรและอาชีวศึกษาสายช่างจำนวนมาก ในขณะที่ภาคบริการต้องปรับเปลี่ยนไปทั้งคุณภาพที่สูงขึ้นและความหลากหลายที่มากขึ้น จึงทำให้เราต้องมีหลักสูตรวิชาชีพในสาขาบริการมากขึ้น และทุกคนต้องมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานผ่านการอบรมความรู้ใหม่หรือยกระดับทักษะให้ทันสมัยขึ้น
นอกจากนี้คณะผู้วิจัย ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญ ที่พบว่ามีปัญหา ส่งผลต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว คือประเด็นเรื่องอาชีวศึกษาในปัจจุบัน นักเรียนอาชีวศึกษามีแนวโน้มที่จะลดลง ในขณะที่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตลาดแรงงานมีความต้องการมากที่สุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากค่านิยมในการเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพของคนไทยที่มีสัดส่วนนักเรียนสายสามัญต่อสายอาชีวศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 26:74

วิสัยทัศน์ของสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย

1.ทุกคนมีทักษะที่พร้อมทำงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

2.นักเรียนประมาณร้อยละ 75 เรียนจบ ปวช. หรือ ม.6 ขึ้นไป

3.สัดส่วนของ นร. ปวช. : ม.6 อยู่ที่สัดส่วน 50 : 50

4. รายได้หลังเรียนจบ ปวช. ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อเดือน

5.เปลี่ยนโครงสร้างตลาดแรงงาน จากแรงงานไร้ฝีมือไม่มีมาตรฐานไปสู่แรงงานที่มีมาตรฐาน

6.ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานโดยมีภาครัฐสนับสนุน

7.เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการจัดการศึกษาและการฝึกทักษะ ด้วยระบบ Performance-based เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ได้นำเสนอนโยบายสาธารณะไว้ 7 นโยบาย ดังนี้

1.นโยบายสนับสนุนเรียนฟรี ปวช. และ ปวส. ทั้งในอาชีวศึกษาภาครัฐ-เอกชน (เฉพาะสายช่าง)

-ค่าใช้จ่ายรวม ปวช.สายช่าง 1,421.2 ล้านบาทต่อปี

-ค่าใช้จ่ายรวม ปวส.สายช่าง 9,577.6 ล้านบาทต่อปี

2.เพิ่มวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาค่าเล่าเรียนใน ปวส. สายพาณิชย์เป็น 60,000 บาทต่อปี

3.ขยายวงเงินกู้ยืมการศึกษาค่าครองชีพ 48,000 บาทในทุกระดับชั้น

4.สนับสนุนค่าฝึกอบรมผ่านการให้คูปอง 3,500 ล้านบาทต่อปี

5.ร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
และปรับให้มีการเรียนภาคทฤษฎี 3 เดือนสลับกับการฝึกงาน 3 เดือน เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนและนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน

6.ปรับหลักสูตรการฝึกทักษะฝีมือแรงงานทั้งหมดให้สอดคล้องกับคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างมาตรฐาน
ในทุกสาขาวิชาชีพที่ทุกคนยอมรับ

7.สนับสนุนให้เอกชนเปิดหลักสูตรวิชาชีพทั้งแบบห้องเรียนและแบบ Online ที่ตอบสนอง
ต่อความต้องการของตลาดในภาคบริการอย่างกว้างขวางและหลากหลาย โดยรัฐให้การสนับสนุนงบประมาณรวมงบประมาณทั้งหมด 14,498.8 ล้านบาทต่อปี

ช่วงปาฐกถาพิเศษ

การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “การยกระดับทักษะคนไทย”

โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

“การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สามารถพึ่งบุญเก่าได้ ต้องสร้างความตื่นตัวของประเทศ ความตื่นตัว ความเข้าใจ ว่าไทย ต้องทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม มันยังเป็นแค่การสะท้อนปัญหาเท่านั้นแต่สังคมไทยยังคงไม่เข้าใจและสับสนอยู่ว่าทำยังไงให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0”

ประเด็นหลักในการยกระดับ คือ กฎระเบียบกติกาต่างๆของประเทศไทยที่มีมากกว่าแสนฉบับ ซึ่งเป็นปัญหาในการก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่ประเทศไทยกำลังดำเนินไปเป็น 4.0 แต่ยังมีกฎกติกาต่างๆที่ยังขัดแย้งอยู่ อาทิ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่ควรจะต้องสะสางกัน

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องทักษะของคนไทย แรงงานไร้ฝีมือ ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญ ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น ต้องแก้ทั้งระบบตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจะยกระดับขีดความสามารถคนไทยนโยบายในวันนี้ควรเริ่มจากเด็กเล็ก ครอบครัว ไปจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในแง่ของกระบวนการเรียน การสอนในแง่ของการสอนให้รู้จักการจัดการความรู้หรือการจัดการข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน รวมถึงระบบการศึกษาแบบสหกิจศึกษา และแบบทวิภาคี โดยให้อาชีวะตอบสนองต่อตลาดแรงงาน ค่าจ้างและแรงงาน รวมถึงค่ามาตรฐานแรงงานให้ได้

ทั้งนี้ภาพรวมที่จะเพิ่มทักษะให้แก่คนไทย ต้องคิดให้ครบทั้งระบบแล้วไล่เรียงมา กล่าวคือ ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าจะยกระดับขีดความสามารถคนไทย การทำนโยบายในวันนี้ควรเริ่มจากเด็กเล็ก ครอบครัว ไปจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในแง่ของกระบวนการเรียน การสอน ที่ผมใช้คำว่า วันนี้มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการให้ความรู้อีกต่อไป แต่เป็นการสอนให้รู้จักการจัดการความรู้หรือการจัดการข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก นอกจากนี้หากเราต้องการที่จะพัฒนาทักษะของคนนั้น ควรทำให้ของเราให้มันสอดคล้องทั้งระบบ คือระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และการสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“อนาคตและโอกาสของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า สีเทาหรือภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal Economy) เศรษฐกิจแบบนี้คิดเป็นสัดส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่เกือบที่สุดในโลก เช่น หาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น คนเหล่านี้เค้ามีความสร้างสรรค์และความสามารถ แต่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบที่จะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือระบบเศรษฐกิจแบบ 4.0ที่เราต้องการ”

การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “ประสบการณ์เรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานในต่างประเทศ”

โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)

“ปัญหาของคุณภาพคน หรือ ปัญหาทรัพยากรมนุษย์”

คุณภาพคน เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของ TOTAL FACTOR PRODUCTIVITY ซึ่งคือ ผลิตภาพของปัจจัยการผลิตทั้งหมดได้แก่ ทุน คน ที่ดิน

“หนึ่งในปัญหาหลักของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน คือ Mismatching ของ Manpower requirement (ความไม่ตรงกันของความต้องการแรงงานกับทักษะของทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่)” โดยต้นเหตุหลัก มาจากการที่แรงงานไทยขาดทักษะการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม นำไปสู่ความไม่พร้อมของระบบในการจับคู่งาน รวมทั้ง ยังมีปัญหาของการแยกสายสามัญและอาชีวะเร็วเกินไป บุคลากรที่จบการศึกษาไม่ได้ทำงานในสายที่เรียนมา ดังนั้นควรมีการศึกษาความต้องการของตลาดแรงงานว่าต้องการแรงงานประเภทไหน ซึ่งควรนำโดยกระทรวงแรงงานและให้ภาคเอกชนเข้าสนับสนุน ทั้งด้านทักษะแรงงานในและนอกระบบ อาทิ แรงงาน แม่บ้าน ศิลปิน โดยประเทศไทยไม่ควรใช้ยุโรปเป็นโมเดล อัตราการว่างงานของยุโรปสูงอย่างมาก แต่ประเทศไทยขาดแรงงานที่มีฝีมือ มีทักษะ มีคุณภาพสูง

จากประสบการณ์ของผม การดำเนินการพัฒนาของ UNCTAD วาระเรื่องแรงงานเป็นวาระที่ได้รับความสำคัญที่สุดอย่างยาวนาน ทั้งด้านรายได้และการสร้างความแข็งแกร่ง (Empowerment) ในการกำหนดอิสรภาพของตัวเอง ถ้าคนไม่มีเสรีภาพในการเลือกคุณภาพในการมีส่วนรวม อาทิเช่น เช่น ไทย มีกองทุนหมู่บ้านแต่เราไม่มีอะไรที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสิน อาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการ

อีกมุมหนึ่งของ “ปัญหาแรงงานเฉพาะเจาะจงคือกลุ่มที่รัฐบาลต้องการในการพัฒนา “Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ศิลปิน นักเขียน นักดนตรีที่ไม่ต้องการอยู่ในระบบ รัฐบาลต้องสร้างแนวทางทางออกให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ เพื่อครอบคลุมการดูแลแรงงงานทั้งหมด”

โดยสรุปแนวทาง “การพัฒนาทุกส่วนต้องเริ่มจนระบบการศึกษาตั้งแต่เด็กจนโต ไปด้วยกัน จะได้พัฒนาไปด้วยกันตลอดอาชีพ และดูควบคู่ถึงเพิ่มรายได้แรงงานที่เราพูดถึงการเพิ่มรายได้แรงงานขั้นต่ำที่ต้องเพิ่มไปพร้อมๆกับการเพิ่มทักษะแรงงานด้วย”